เมื่อเป็น ‘โรคกระเพาะ’ ต้องกินยาแบบไหน ? นานเท่าไหร่ ?

โรคกระเพาะเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ประมาณว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยการเกิดแผลในกระเพาะมักพบในวัยกลางคน ขณะที่การเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจะพบในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัย

อาการของโรคกระเพาะ

มักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียดหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้เป็นได้ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารใหม่ๆและเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าว ตอนเช้ามืดหรือตอนดึกๆก็ปวดท้องได้เช่นกัน อาการปวดจะเป็นๆหายๆ เป็นได้วันละหลายๆครั้ง หรือตามมื้ออาหาร และแต่ละครั้งที่ปวดจะนานประมาณ 15 – 30 นาที อาการปวดจะบรรเทาลงได้ถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนมหรือรับประทานยาลดกรด

โดยปกติแล้วเมื่อเราเป็นโรคกระเพาะก็จะต้องกินยาอยู่ 2 กลุ่ม คือ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และยากระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีแผลเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร แพทย์ก็จะแนะนำให้กินยาลดกรดต่อเนื่อเป็นเวลา 6 – 8 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายผ่านการดูด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีความผิดปกติในเบื้องต้น แพทย์ก็มักจะแนะนำให้กินยาลดกรดเฉพาะเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนยาประเภทอื่นๆ อาทิ ยาขับลม ก็แนะนำว่าให้กินเฉพาะตอนที่มีอาการแน่นท้องจากลมที่เกิดขึ้นมากในกระเพาะอาหาร โดยกินในเวลาที่มีอาการได้ตามต้องการ